ผ้าจกเมืองลอง
ประวัติ
ชาวล้านนาส่วนใหญ่เป็นพวกไทยวนซึ่งมีเทคนิคและศิลปะในการทอผ้าในรูปแบบของตนเอง ผู้หญิงไทยวนนิยมแต่งกายด้วยผ้าซิ่นทอชนิดต่างๆ และผ้าซิ่นตีนจกเป็นผ้าซิ่นที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษโดยวัสดุที่ใช้ในการทอมีทั้งที่เป็นฝ้ายไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง ทอเป็นผ้าลวดลายสวยงาม
การทอผ้าตีนจกของชาวเมืองลอง เริ่มขึ้นมานานเพียงใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่าความรุ่งเรืองของเมืองลองมีมานานกว่า 200 ปี จากหลักฐานภาพถ่ายเจ้านายฝ่ายหญิงของเมืองแพร่ในสมัยก่อน พ.ศ.2445 พบว่า ผ้าซิ่นที่ใช้สวมใส่จะมีเชิงซิ่นเป็นตีนจกซึ่งน่าจะเป็นซิ่นตีนจกที่ทอขึ้นโดยช่างทอผ้าชาวเมืองลอง
นอกจากนี้หลักฐานการใช้ผ้าทอตีนจกเมืองลองในการแต่งกายของชาวเมืองลองยังปรากฏมานานนับร้อยปี หลักฐานคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ วัดเวียงต้า ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง เป็นภาพวิถีชีวิตความเชื่อการแต่งกายของชาวบ้านเวียงต้าซึ่งเป็นคนเมืองลองในยุคนั้นผู้หญิงในภาพใช้สวมใส่เป็นซิ่นตีนจก ผ้าจกเมืองลองเป็นผ้าทอที่มีลวดลายและสีที่งดงาม
ในอดีตส่วนใหญ่เป็นการทอเพื่อนำมาต่อกับผ้าถุงหรือที่เรียกว่า “ซิ่น” เป็นเชิงตีนซิ่น เรียกว่า “ซิ่นตีนจก”
และมีการสืบวัฒนธรรมการทอผ้าตีนจกมาจนถึงปัจจุบัน ที่มีความสวยงามบอกถึงฐานะและสังคมของผู้สวมใส่
ผู้สืบทอดงานทอผ้าตีนจกเมืองลอง
มีชื่อว่านางยวง อุปถัมภ์ ชาวบ้านนามน ตำบลหังทุ่ง และนางสี ใจดี ชาวบ้านร่องบอน ตำบลปากกาง บุคคลทั้งสองนี้ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทอผ้าด้วยเทคนิคการจกแบบโบราณของเมืองลองที่ยังเหลืออยู่ในขณะนั้น แม้ว่าตอนนั้นความต้องการผ้าตีนจกลดน้อยลง ทำให้ขายได้น้อยแต่ทั้งสองยังคงประกอบอาชีพทอผ้าออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะนางยวง อุปภัมภ์ เป็นช่างทอผ้าตีนจกที่มีความสามารถสูง โชคดีที่มีหลานคือนางประนอม ทาแปง ที่มีความสนใจในเทคนิควิธีการทอผ้าตีนจก ได้แอบดูและทดลองฝึกหัดด้วยตนเอง ในที่สุดนางยวง อุปถัมภ์ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ คุณปรานอม ทาแปง ก่อนที่จะเสียชีวิต หลังจากนั้นคุณประนอม ได้ประกอบอาชีพทอผ้าตีนจก เป็นอาชีพเสริมจากการทำนา ทำสวน คุณประนอมเป็นผู้ที่มีความสามารถ ได้พัฒนาลวดลายทอแบบโบราณที่มีไม่กี่ลายสีสันไม่งดงาม มาประยุกต์เพิ่มเติมให้มีลวดลายและความงดงามเพิ่มขึ้น นอกจากนี้คุณประนอมยังเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความกล้าหาญและภาคภูมิใจในผลงานตนเอง มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะนำผ้าทอตีนจกฝีมือตนเอง ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งเหตุการณ์ตอนนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูและพัฒนาผ้าตีนจกของเมืองลองอย่างแท้จริง
คุณประนอม ทาแปง
โดยในปัจจุบัน คุณประนอม ทาแปง ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของชาติ ที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2553 สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ)โดยเป็นผู้ที่ไม่ เพียงแต่จะมีความรู้ความสามารถในการทอผ้าเป็นเลิศ หากแต่ยังเป็นนักอนุรักษ์สืบสานและพัฒนาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกฝ้ายปลูกคราม ทำเส้นฝ้าย ทอผ้า ย้อมสีธรรมชาติ ไปจนถึงการออกแบบตัดเย็บ สร้างรายได้มากมายให้แก่ชุมชน
รางวัลศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2553 สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ)
นอกจากนี้คุณประนอม ทาแปง ยังได้ทอผ้าจก ซึ่งเป็นผ้าจกที่ยาวที่สุดเลยอีกด้วย