มหัศจรรย์…แนวหินปะการัง ธรรมชาติสร้างบนยอดดอย
การเดินทางไปขับรถตั้งต้นจากตัวเมืองแพร่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1023 สายแพร่-ลอง ระหว่างกิโลเมตรที่ 18-19 สังเกตทางขวามือจะมีป้ายบอกทางไป “แนวหินปะการัง” จากนั้นเลี้ยวเข้าไปตามแนวต้นสักขนาดใหญ่ จะพบแนวหินสีขาวอมเทา มองคล้ายเสาหินงอกหินย้อย เรียงรายเป็นแนวเบียดเสียดสลับซับซ้อน ชูยอดแหลมคมเป็นปุ่มแข็ง สูงบ้าง ต่ำบ้าง แลดูคล้ายปะการังใต้ทะเลยังไงยั้งงั้น
จากการสันนิษฐานพื้นที่เคยอยู่ในทะเลน้ำตื้นมาก่อน ทำให้เกิดลักษณะของหินปูนเป็นชั้นๆซ้อนทับกันอยู่ พอถูกลมฝนและพายุพัดกัดเซาะทุกวันๆ จึงช่วยขัดภูเขาหินเหล่านี้ให้มีลักษณะเพรียวบางมียอดแหลมเรียงรายอย่างสวยงาม เป็นแนวยาวต่อเนื่องในบริเวณกว้าง 50 ไร่ แต่ละแนวมีต้นจันทน์ผาขึ้นแซมเป็น ฉากหลัง สีเขียวขจี
เป็นความงดงามในท่ามกลางแมกไม้นานาชนิด มีทั้งป่าไม้เบญจพรรณ ไม้ป่า ดงดิบ ดงตะแบก ต้นที่ใหญ่สุดขนาด 4 คนโอบก็มีให้เห็น สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ก็มีอาศัย อาทิ หมีควาย เลียงผา เก้งหมูป่า ไก่ป่านิ่ม ตะกวด ชะมด และนกป่า กว่า 200 ชนิด
นายพินิจ คงประพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง เล่าว่า แนวหินปะการังหรือร่องหินแตกแห่งนี้ อยู่ในความดูแลของ สนง.พื้นที่อนุรักษ์ที่13 (แพร่)กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หลังจากได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 107 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 117,982 ไร่ อุดมไปด้วยพืชพรรณธรรมชาติสวยงาม และมีคุณค่าในการศึกษาหาความรู้ ทั้งพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า พืชสมุนไพร เหมาะแก่การพักผ่อนทางธรรมชาติ
โดยเฉพาะ “แนวหินปะการัง” หรือ “ร่องหินแตก” เกิดขึ้นจากการยุบตัวของหินปูน ในช่วงการเคลื่อนตัวของผิวโลก และการชะล้างพังทลายของหินใต้น้ำ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายพันล้านปี กว่าจะเกิดเป็นหินที่โผล่พ้นจากพื้นดิน
หากอยากไปสัมผัส นักท่องเที่ยวควรแต่งกายในชุดเดินป่า นุ่งกางเกงขายาว สวมรองเท้าผ้าใบ พกน้ำดื่มไว้แก้กระหาย ตลอดเส้นทางปูด้วยอิฐบล็อกไม่ต้องกลัวหลง
ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ในพื้นที่ 20 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 50 ไร่โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯให้บริการพาชม พร้อมดูแลความปลอดภัย และดูแลรักษาสภาพธรรมชาติให้สมบูรณ์ ในระหว่างเส้นทางจะมีห้องน้ำ และลานกางเต็นท์ไว้บริการ โดยนักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์มาเอง หรือจะใช้บริการของอุทยานฯก็ได้ตามแต่ชอบใจ
ด้าน นายสุทิน ธรรมโม อายุ40ปี เจ้าพนักงานราชการพิทักษ์ป่า แนะนำว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นช่วงที่มีเห็ดโคนออกเป็นระยะๆ และที่น่าตื่นเต้นเป็นการเกิดของดอกกากหมาก–ตาฤาษี หรือขนุนดินสีน้ำตาลอมแดงสวยงามผุดขึ้นจากดินเป็นวงกว้าง ระหว่างเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ พืชสมุนไพรธรรมชาติ
สำหรับ ดอกกากหมากตาฤาษี นี้ จัดเป็นพืชสมุนไพรธรรมชาติ ขึ้นในป่าดิบชื้นเมื่อนำผลมาตากแห้งแล้วฝนกับน้ำ เชื่อว่าสามารถใช้เป็นยาแก้หูเป็นน้ำหนวก หรือแก้แผลเน่าเรื้อรังได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ระหว่างทางขึ้นเขาซึ่งเป็นหุบเหว จึงทำบันไดไว้ให้เดินเป็นระยะๆ ประมาณ 30 เมตร ก่อนที่จะไปถึงจุดพักจุดแรก เรียกว่า “ถ้ำแอร์ธรรมชาติ” มีไอเย็นพัดออกมาตลอดเวลา ส่วนถ้ำผากลองนิยมใช้เป็นสถานที่หลบฝน
หากเดินต่อไปตามบันไดเล็กๆระหว่าง 2 ข้างทางสามารถชมความงามตามธรรมชาติ ที่มีต้นจันทน์ผา พญาไร้ใบ ข่อยหนามกล้วยไม้ดิน สมุนไพร ต้นสัก ไม้แดง ประดู่ ชิงชัน เต็ง และอีกสารพัดชนิด ถัดไปประมาณ 800 เมตร จะมองเห็นแนวหินปะการังสีขาวหม่นอมเทา เบียดเสียดสลับซับซ้อนสูงบ้าง ต่ำบ้าง แข็งแกร่ง เช่นเดียวกับบนยอดดอย สามารถชมทิวทัศน์ได้รอบทิศ แต่อย่าพลาดชมดงตะแบกยักษ์ขนาด 4 คนโอบ เส้นรอบวง 537 เซนติเมตร
ทั้งหลายทั้งปวงแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวแห่ไปชมพระอาทิตย์บนยอดแนวหินปะการัง เวลาประมาณ 05.30น. และพระอาทิตย์ตกดิน 18.00 น. ช่วงหน้าหนาวเหมาะที่จะไปบ้านพัก หรือ กางเต็นท์นอนก็โรแมนติกไปอีกแบบ
งานนี้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ.แพร่ กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งนี้จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นมรดกสืบทอดถึงลูกหลาน นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา สามารถศึกษาเรียนรู้เรื่องหิน เรื่องเปลือกโลกเรื่องป่าไม้ พันธุ์ไม้ พืชสมุนไพร สัตว์ป่านานาชนิด เที่ยวสนุกสนานเพลิดเพลินใจได้ตลอดปี
ช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว เวลาจึงเหมาะเจาะไปท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ แถมอุณหภูมิอากาศกำลังดี คู่รักหนุ่มสาว จึงน่าลองเป็นตัวเลือกเข้าไปสัมผัสดูสักครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างยิ่ง….!